หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา นายประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน ได้ขับเคลื่อนแผนงานหลัก 2-3 ประการให้คืบหน้าจนเชื่อมั่นได้ว่าจะสำเร็จตามเป้าหมาย อันจะส่งผลเป็นการพลิกโฉมหน้าสู่ “กรมที่ดินเรียลไทม์” คือ สามารถให้บริการประชาชนที่มายื่นคำร้องขอรับบริการที่ดินได้ทันที สอดคล้องยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล อีกทั้งบรรลุนโยบายของพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มอบหมายไว้ ดังนี้
พล.อ.อนุพงษ์ ได้มอบนโยบาย 2 คำ คือ “บริการดี ไม่มีทุจริต” ในเรื่องของบริการดีนั้น ในช่วงเกือบ 150 วัน ที่มารับผิดชอบกรมที่ดิน ซึ่งหลักคืองานให้บริการเกี่ยวกับที่ดิน งานเอกสารที่ดิน รักษาคุ้มครองสิทธิ์ให้ประชาชน ให้ได้รับบริการที่ดี มีความสะดวกรวดเร็ว
สาง“สค.1”ค้าง1.4แสน
อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า แผนงานแรกคือเร่งรัดการให้บริการประชาชนนั้น ส่วนแรกคือสะสางงานค้างเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกเอกสารสิทธิ์จากสค.1 ที่รัฐบาลมีนโยบายเมื่อปี 2552 ให้เปลี่ยนเป็นโฉนด ทำให้มีคำร้องทะลักเข้ามาถึง 6 แสนคำร้อง ซึ่งพนักงานกรมที่ดินทะยอยดำเนินการมาต่อเนื่อง ปัจจุบันยังคงค้างอีก 1.4 แสนเรื่อง
“ผมตั้งเป้าหมายจะสะสางเรื่องค้างนี้ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม 2560 นี้ โดยทำงานควบคู่กับคำร้องใหม่ที่ยังมีเข้ามาตามปกติเป็นประจำวัน มีทั่วประเทศเฉลี่ยเดือนละ.3 หมื่นคำร้อง โดยให้กระบวนการบริหารจัดการด้วยกำลังคนเดิมที่มีอยู่ ด้วยงบประมาณปกติ ซึ่งจากการปรับกระบวนการทำงานที่ผ่านมาได้ผลเป็นที่น่าพอใจและเชื่อมั่นว่าจะเสร็จสิ้นตามเป้าหมายที่วางไว้”
กระบวนการบริหารที่ปรับใหม่ได้แก่
2. เปลี่ยนจากการออกรังวัดตามคำร้องเป็นรายพื้นที่ พยายามบริหารเป็นพื้นที่โดยนัดหมายเป็นกลุ่ม ออกไปครั้งเดียวแต่ได้เนื้องานเพิ่มขึ้น ทำพร้อมกันลดความซ้ำซ้อน
3. เพื่อนช่วยเพื่อน ให้จังหวัดที่ปริมาณงานเบาบางแล้ว มาช่วยจังหวัดที่ยังมีงานค้างมาก โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีข้อจำกัดในการเข้าพื้นที่ มอบหมายให้เจ้าพนักงานที่ดินจากนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ จับคู่กับจังหวัดชายแดนใต้ โดยให้เจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำงานสนาม แล้วส่งข้อมูลการรังวัดต่างๆ ทางออนไลน์ให้จังหวัดคู่มิตรช่วยทำงานเอกสาร อาทิ การขึ้นรูปแปลงที่ดิน เป็นต้น แล้วส่งกลับให้พื้นที่ตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง ทำให้งานเร็วขึ้น
อีกส่วนหนึ่งได้มอบหมายผู้ตรวจการกรมทั้ง 12 คน พร้อมทีมทำงานรวมเป็นประมาณ 40 คน แบ่งพื้นที่กันเข้าไปช่วยติดตามตรวจสอบกำกับดูแล ทั้งคำร้องปกติของประชาชนที่ยื่นขอรับบริการจากสำนักงานที่ดิน รวมถึงเรื่องร้องเรียนด้านที่ดินที่มีมาถึงศูนย์ดำรงธรรมกรมที่ดิน ซึ่งค้างอยู่ราว 3.5 พันเรื่อง โดยทีมผู้ตรวจต้องไปติดตามสถานะเรื่องคำร้องของประชาชนที่เข้ามา ได้ข้อยุติหรือไม่อย่างไร ถ้ายังไม่ยุติติดขัดอะไร จะใช้เวลาดำเนินการให้ลุล่วงภายในเมื่อไหร่ เพื่อปจ้งกลับผู้ยื่น และต้องรายงานกรมทุกเดือน
ออกโฉนดรุ่นใหม่
แผนงานที่ 2 ระบบแผนที่ชั้น 1 หรือการออกโฉนดรุ่นใหม่อัตราส่วน 1 ต่อ 4,000 โดยจะมีการกำหนดพิกัดดาวเทียมควบคู่กับหมายเลขหมุดที่ดินตามแนวแปลงที่ดินด้วย ซึ่งการวัดด้วยพิกัดดาวเทียมในอัตราส่วนดังกล่าว จะมีความคลาดเคลื่อนน้อยมากเพียงไม่เกิน 1 เซนติเมตร
ตามแผนงานนี้จะทะยอยตั้งสถานีฐาน ซึ่งจะต้องมีทั้งสิ้น 222 สถานี จึงจะครบถ้วนทำงานได้เต็มศักยภาพ แต่จะทะยอยติดตั้งตามกำลังงบประมาณ ซึ่งได้เริ่มทะยอยดำเนินการแล้ว และจะมีครบในปีงบประมาณ 2562 แต่ในการทำงานจะทะยอยดำเนินการควบคู่กันไป โดยอีกส่วนหนึ่งต้องเร่งหางบประมาณจัดซื้อเครื่องรับสัญญาณเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ออกรังวัดนำไปใช้วัดพิกัดด้วย
การจัดทำแผนที่รุ่นใหม่ที่ระบุพิกัดดาวเทียมในฐานข้อมูลฉบับของเจ้าหน้าที่ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าพนักงานที่ดินในอนาคต เพราะตำแหน่งตามพิกัดดาวเทียมจะมีความแน่นอน ลดปัญหาความคลาดเคลื่อนของตำแหน่งหมุดที่ดินแบบเดิม ลดปัญหาพิพาทแนวเขตที่ดิน รวมถึงต้องปรับแก้ระเบียบใหม่ จากเดิมที่การรังวัดแนวเขตที่ดินต้องให้เจ้าของที่ดินแปลงข้างเคียงร่วมชี้และรับรองแนวเขต ซึ่งมีปัญหาข้อยุ่งยากมากกว่าจะนัดหมายให้มาพร้อมกันครบถ้วน ต่อไปถ้าใช้แนวเขตจากพิกัดดาวเทียมอาจลดความยุ่งยากตรงนี้ลง ขณะเดียวกันกรมอยู่ระหว่างยกร่างแก้ไขปรับปรุงระเรียบกฎหมายข้อบังคับต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น
ทำฐานข้อมูลที่ดินแห่งชาติ
แผนงานสุดท้าย คือ ระบบสารสนเทศที่ดิน ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลที่ดินแห่งชาติ โดยเมื่อกรมที่ดินสะสางเรื่องคงค้างเก่าหมดไปแล้ว ติดตั้งสถานีฐานเสร็จ จะระดมกำลังต่อในการจัดทำโฉนดที่ดินตามพิกัดดาวเทียม ซึ่งนอกจากรูปแปลงที่ดินตามปกติแล้ว จะมีผังที่ดินรายแปลงในพื้นที่ 4 ตารางกิโลเมตร ว่ามีลักษณะอย่างไร ตั้งอยู่ที่ไหน พร้อมข้อมูลประวัติที่ดินแต่ละแปลง ในระบบดิจิตอล ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันได้ทันที โดยขณะนี้มีจำนวนโฉนดที่ดินทั่วประเทศประมาณ 33 ล้านแปลง และที่ยังเป็นนส.3 และนส.3 ก อีกประมาณ 5 ล้านแปลง
“เมื่อเราทำฐานข้อมูลรายแปลงที่ดินเสร็จสามารถเรียกข้อมูลมาปูโฉนดเรียงแปลงที่ดินได้ทันที มีขอบเขตที่ดินชัดเจน ว่าตรงไหนเป็นที่เอกสารสิทธิ์ของชาวบ้าน ส่วนที่ไม่ใช่ก็จะเป็นที่ป่า ที่ของรัฐ หรือที่สงวนหวงห้าม ซึ่งก็จะมีพิกัดและขอบเขตที่ดินชัดเจนแน่นอน ตามนโยบายวันแม็บของรัฐบาล”
อธิบดีกรมที่ดินเผยอีกว่า ฐานข้อมูลลที่ดินแห่งชาตินี้ จะมีประโยชน์อย่างน้อย 2 ประการคือ 1.ประโยชน์ในการบริหารจัดการ ทำให้มีข้อมูลแน่นอนชัดเจนว่า ใครถือครองดินแปลงไหน เนื้อที่เท่าไหร่ อยู่ที่ไหน เรียกมาดูได้ทันที เป็นประโยชน์ในการวางแผนดำเนินนโยบายของรัฐ เช่น การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐ การวางแผนใช้ประโยชน์ที่ดิน 2.ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน จากการที่ฐานข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ ชัดเจน การทำนิติกรรมที่ดินต่อไปเจ้าของเอกสารสิทธิ์จะต้องมาดำเนินการเองเฉพาะกรณีที่จำเป็นต้องยืนยันตัวบุคคลเท่านั้น ลดเวลาในการทำนิติกรรม มีกรอบระยะเวลาการให้บริการแต่ละเรื่องที่ชัดเจนและเร็วขึ้น เมื่อมีความชัดเจนรวดเร็วแล้ว การทุจริตก็จะน้อยลงด้วย ควบคู่กับการติดตามตรวจสอบอย่างเข้มข้นแล้วในเวลานี้
ขณะเดียวกันเวลานี้กรมที่ดินอยู่ระหว่างยกร่างแก้ไขระเบียบกฎหมายข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวกับที่ดินใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เมื่อใช้พิกัดดาวเทียมกำหนดขอบเขตที่ดิน ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนต่ำไม่เกิน 1 เซนติเมตร ต่อไปไม่จำเป็นต้องให้พื้นที่ข้างเคียงมาคอยระวังและรับรองแนวเขต ช่วยลดความยุ่งยาก และค่าใช้จ่ายในการทำนิติกรรม เจ้าของที่ดินต้องมาแสดงตัวยืนยันเฉพาะรายการที่จำเป็นต้องยืนยันด้วยตนเองเท่านั้น ส่วนกรณีอื่นสามารถใช้ระบบออนไลน์ได้เลย การใช้ประโยชน์จากที่ดินสะดวกรวดเร็วขึ้น เช่น เจ้าของที่ดินอยู่เชียงใหม่ ต้องการใช้ข้อมูลที่ดินในกรุงเทพฯ ต่อไปสามารถใช้ระบบออนไลน์จากสำนักงานที่ดินในพื้นที่ได้เลย
การพัฒนากรมที่ดินสู่มิติใหม่บนฐานข้อมูลดิจิตอลนี้ ได้เริ่มเทกออฟ โดยอธิบดีกรมที่ดินย้ำว่า จะเห็นชัดภายในปี 2562-2563 นี้แล้ว จึงนับเป็นการเริ่มนับหนึ่งสู่ยุค “เรียลไทม์” ในวาระการสถาปนาครบรอบ 116 ปี ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ กับมิติใหม่กรมที่ดิน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,236 วันที่ 16 – 18 กุมภาพันธ์ 2560
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
บ้านดี (Baan-D)
บ้านดีดอทคอม ศูนย์รวมข้อมูลบ้านและคอนโด พร้อมรีวิวเจาะลึกโครงการฯ วิเคราะห์ทำเลที่พักอาศัย และอัพเดทข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ
“บ้านดี - สื่อกลางสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อและขายบ้าน รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร”
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.
Copyright © 2018 Baan-D.com. All rights reserved.